วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หอศิลปฯ กทม. กับช่วงเวลาวิกฤตการเมือง เดือนพฤษภาคม 2553

Categories:



หอศิลป วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่หัวมุมสี่แยกปทุมวัน เรียกได้ว่าช่วงเวลาแห่งการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่ง อยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตรนั้น หอศิลปฯ ได้รับผลกระทบพอสมควร

กลุ่มผู้ชุมนุมได้ เริ่มมาปักหลักชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2553 และภายหลังเหตุการณ์การปะทะกันที่สี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 กลุ่มผู้ชุมนุมได้ยุติเวทีการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าและมารวมเป็นที่เดียว ณ สี่แยกราชประสงค์ ปลายแถวฝั่งหนึ่งของการชุมนุมทอดยาวมาถึงแยกปทุมวัน โดยกลุ่มผู้ชุมนุมยังได้นำล้อยางรถยนต์ และไม้ไผ่เหลาแหลมจำนวนมากมาปิดกั้นถนนพระราม 1 ตรงหน้าห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งอยู่ตรงข้ามหอศิลปฯ เพื่อเป็นแนวป้องกันของกลุ่มผู้ชุมนุม

ระยะแรกๆ ของการชุมนุม หอศิลปฯ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ นิทรรศการศิลปะตลอดจนกิจกรรมอันหลากหลายยังคงดำเนินไป และยังมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หอศิลปฯ จึงได้เพิ่มระดับความเข้มข้นในระบบรักษาความปลอดภัยในช่วงนั้น โดยมีมาตรการต่างๆ รองรับ เช่น การตรวจค้นรถและวัตถุต้องสงสัย การจำกัดพื้นที่ให้บริการ และปิดประตูทางเข้า-ออกบางจุดเพื่อความสะดวกในการดูแล และป้องกัน

ต่อมาเมื่อสถานการณ์ การเมืองเขม็งเกลียว-ตึงเครียด และมีแนวโน้มความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นมา ทำให้ โครงการนิทรรศการและกิจกรรมที่อยู่ในแผนงานของหอศิลปฯ ได้ถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไปเป็นจำนวนมาก จำนวนผู้เยี่ยมชมเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากสถานการณ์ของพื้นที่บริเวณนี้ไม่น่า ไว้วางใจ เพราะอยู่ใกล้ที่ชุมนุม กระนั้นก็ตาม หอศิลปฯ ก็ยังคงเปิดให้ดำเนินการตามปกติ โดย มีนิทรรศการภาพถ่าย “รวมมิตรภาพ” และนิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัย“ฉงน สงสัย” ที่จัดแสดงอยู่ห้องนิทรรศการชั้น 7-8-9 ตลอดจนนิทรรศการ 25 ปี นิตยสารสารคดี และนิทรรศการ Artist and Designer’s Creation ที่ชั้น 3-4 เป็นงานแสดงหลักของหอศิลปฯ ในช่วงนั้น

ระหว่างนี้มีผู้ ชุมนุมเสื้อแดงบางส่วนได้มาใช้บริการหอศิลปฯ ด้วยการเข้าชมงานนิทรรศการและใช้บริการห้องสมุด โดยไม่ปรากฏเหตุร้ายใดๆ นอกจากเจ้าหน้าที่ห้องสมุดได้ตรวจพบว่า มีความพยายามที่จะหยิบฉวยหนังสือพิมพ์รายวันออกไปอยู่บ้างแต่ก็แก้ไขปัญหา ผ่านไปด้วยดี และในวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของหอศิลปฯ มีชายที่อ้างตัวว่าเป็นทหารในชุดนอกเครื่องแบบ 2 คนจะขอเข้าภายในตัวอาคารหอศิลปฯ โดยอ้างว่าเพื่อสังเกตการณ์การเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม แต่ผู้อำนวยการหอศิลปฯ ได้ขอให้ทำหนังสือถึงประธานมูลนิธิหอศิลปฯ ก่อน เพื่อเป็นการยืนยันสถานะองค์กรที่เข้ามา ภายหลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏความพยายามในการประสานมาอีกเลย ขณะเดียวกันมีกลุ่มเครือข่ายคนทำงานด้านสันติวิธีได้มาจัดกิจกรรมรณรงค์ บริเวณลานน้ำพุหน้าหอศิลปฯ เพื่อรณรงค์ให้สังคมมี “สติ สันติ สันติภาพ” ในช่วงเย็นของทุกวันต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ มีประชาชนให้ความสนใจจำนวนหนึ่ง

เมื่อรัฐบาลตัดสินใจ ใช้มาตรการกระชับพื้นที่เพื่อปิดล้อมผู้ชุมนุม ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 จนเกิดการปะทะกันในพื้นที่รอบนอก แม้สถานการณ์บริเวณแยกปทุมวันยังคงปลอดภัย แต่การปิดเส้นทางจราจรทั้งฝั่งถนนพญาไทและพระราม 1 รวมถึงการหยุดให้บริการของรถไฟฟ้า BTS ทั้งเพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยโดยรวม ผู้อำนวยการหอศิลปฯ จึงมีคำสั่งให้ปิดบริการในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ไปจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

หอศิลปฯ ต้องปิดให้บริการต่อเนื่องกว่า 10 วัน (14 พ.ค – 24 พ.ค 2553) เพราะอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับความไม่ปลอดภัยตลอดเวลา ซึ่งในระหว่างนี้มีเจ้าหน้าที่ บริหารหอศิลปฯ 2 คน อยู่ประจำการตลอดเวลา ทำหน้าที่เฝ้าพื้นที่ สังเกตการณ์ และระวังเหตุ ร่วมกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ช่างเทคนิ คอาคารส่วนหนึ่ง

ระหว่างวันที่ 14 - 18 พฤษภาคม 2553 เป็นช่วงเวลาแห่งความตึงเครียด เกิดการปะทะกันในหลายพื้นที่ รอบบริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อรัฐบาลได้มีมาตรการกระชับพื้นที่เพื่อตีกรอบพื้นที่ของ การชุมนุมให้อยู่ในวงจำกัด โดยบริเวณใกล้พื้นที่หอศิลปฯ เจ้าหน้าที่ของรัฐได้เริ่มตั้งจุดตรวจที่ถนนพระราม 1 บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ และถนนพญาไท บริเวณหน้าวังสระปทุม ตลอดจนเริ่มเข้าคุมพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติ และสะพานลอยทางข้ามหน้าหอศิลปฯ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้เริ่มนำถุงดำบรรจุขยะจำนวนมากมากั้นเป็นแนวป้องกัน บริเวณหน้าหอศิลปฯ ฝั่งถนนพระราม 1 ทำให้การจราจรรอบพื้นที่ถูกปิดทั้งหมด เจ้าหน้าที่ รปภ. เจ้าหน้าที่ช่างเทคนิคของหอศิลปฯ และผู้ที่จะผ่านบริเวณนั้นต้องแสดงตนทำบัตรผ่านเข้า-ออกเข้าพื้นที่

เมื่อแกนนำผู้ชุมนุม เข้ามอบตัวและยุติการชุมนุม ในบ่ายวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แต่เหตุการณ์กลับบานปลายเป็นการก่อจลาจลไปทั่วเมือง รัฐบาลได้ประกาศเคอร์ฟิวห้ามผู้คนออกนอกเคหะสถานในยาม วิกาล บรรยากาศบ้านเมืองเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น ขณะที่บริเวณหอศิลปฯ นั้นถูกจัดให้เป็นทางออกของผู้ ชุมนุมโดยไม่มีความผิดใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ชุมนุมบางส่วนประมาณ 500-600 คน เริ่มทยอยออกจากแยกราชประสงค์ผ่านมาทางแยกปทุมวัน เพื่อไปขึ้นรถที่รัฐบาลจัดเตรียม ไว้ให้ ณ บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ มีการตรวจสิ่งผิดกฎหมายและอาวุธอย่างเข้มงวด ทำให้มีการทิ้งสิ่งที่อาจผิดกฎหมายและอาวุธจำนวนหนึ่งในบริเวณพื้นที่หอศิลปฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ชุมนุมเห็นด่านตรวจของทหารจำนวนมากที่ตั้งอยู่บนถนนพระราม 1 และทหารอีกบางส่วนยืนคุมพื้นที่อยู่บนสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติ ผู้ชุมนุมจึงมีท่าทีไม่มั่นใจในความปลอดภัย และพากันยืนรวมกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์อยู่บริเวณลานน้ำพุหน้าหอศิลปฯ สุ่มเสี่ยงต่อการปะทะกัน ซึ่ง หอศิลปฯ อาจโดนลูกหลงในครั้งนี้ได้ เจ้าหน้าที่หอศิลปฯ จึงได้ช่วยกันออกไปส่งเสียงเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมเดินต่อไป และให้ความมั่นใจว่าเส้นทางด้านนี้ปลอดภัย ผู้ชุมนุมจึงพากันเดินไปขึ้นรถด้วยดี

หอศิลปฯ ผ่านพ้นช่วงเวลาอันน่าโศกสลดของสังคมครั้งนี้อย่างหวุดหวิด หวาดเสียวยิ่ง แม้ตัวอาคารและทรัพย์สินทั้งหมดจะไม่ได้รับความเสียหายใดๆ มีแต่รอยกระสุนหนึ่งนัดปรากฏอยู่บนราวกระจกบนทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า BTS แต่บท เรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ต้องเร่งปรับปรุงระบบความปลอดภัยที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างมากทีเดียว ครั้งนี้นับว่าโชคดีที่กลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ก่อความวุ่นวายไม่เลือกหอศิลปฯ เป็นที่ระบายความโกรธแค้น หาไม่แล้ว ตัวอาคารที่ประกอบด้วยกระจกมากมาย และการขาดระบบการป้องกันที่แน่นหนา เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ นับว่ามีความเปราะบางอยู่มากทีเดียว

Spread The Love, Share Our Article

Related Posts

No Response to "หอศิลปฯ กทม. กับช่วงเวลาวิกฤตการเมือง เดือนพฤษภาคม 2553"

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม